http://meeting.trf.or.th/sitevisit/about.aspx

โครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร

หลักการ

       ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นทุนที่ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดสรรให้แก่อาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานให้แก่อาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ในการก้าวไปสู่การทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น 2. เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพในการทำงานวิจัย โดยให้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยอาวุโส 3. เพื่อสร้างผลงานวิจัยพื้นฐานที่มีคุณภาพและสามารถตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติหรือการจดสิทธิบัตร และ 4. เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการวิจัยของประเทศ โดยพัฒนาคุณภาพของอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็นนักวิจัยคุณภาพสูงที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

          ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้สนับสนุนทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ไปแล้วจำนวน 3,979 โครงการ ผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 3,500 บทความ ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจำนวน 49 เรื่อง จึงถือได้ว่าการสนับสนุนทุนนักวิจัยรุ่นใหม่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างนักวิจัยให้เข้าสู่บันไดอาชีพนักวิจัย สามารถเพิ่มจำนวนนักวิจัย เพิ่มจำนวนผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในระดับนานาชาติ รวมถึงสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตรให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพสูงขึ้น นอกจากนี้ ทำให้นักวิจัยมีความเข้มแข็งด้านการวิจัยเพิ่มขึ้น และมีโอกาสได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนอื่นๆ สูงขึ้น ตลอดจนได้รับรางวัลระดับชาติและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัลทุนวิจัยลอรีอัลประเทศไทยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ รางวัล The 2008 ASAIHL-SCOPUS Young Scientist Awards และ Young Investigator Awards (American College of Cardiology, ACC) เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิชาการ สกว. พบว่ายังนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งใช้เวลาดำเนินโครงการนานกว่าระยะเวลาที่ กำหนดตามสัญญาในการทำงานวิจัยและตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ปัจจัยส่วนใหญ่ของการขยายเวลาโครงการออกไปนั้น เกิดจากการไม่มีเวลาทำงานวิจัย ติดภารกิจการสอนและงานบริการวิชาการอื่นๆ ผลการวิจัยไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ การขาดเครื่องมือทำวิจัย รวมทั้งการขาดประสบการณ์ในการเขียนและตีพิมพ์ผลงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนานักวิจัยให้ชะงักอยู่กับที่ หรือในนักวิจัยบางท่านอาจเลิกล้มการทำงานวิจัย ทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรบุคคลทางด้านงานวิจัยที่จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ ไปอย่างไม่เหมาะสม

          ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และมีความต้องการที่จะเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยรุ่นใหม่ก้าวผ่านก้าวแรกของบันไดอาชีพนักวิจัยไปสู่ขั้นที่สูงขึ้น จึงได้จัดทำโครงการ “ฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร” ซึ่งได้นำระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง (mentoring) เข้ามาช่วยเสริมในการให้คำปรึกษาและแนะนำทางด้านวิชาการ รวมทั้งมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียน manuscript และข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักวิจัยประสบความสำเร็จในการทำงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติระหว่างการรับทุน นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีที่นักวิจัยรุ่นใหม่สามารถพบปะ พูดคุยถึงโครงการที่กำลังดำเนินงานกับผู้บริหารจาก สกว. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้นสังกัด และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยฝ่ายวิชาการ สกว. หวังว่า “โครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร” นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มบุคลากรนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการ และสามารถบริหารจัดการทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ก้าวเข้าสู่บันไดอาชีพนักวิจัยอย่างมั่งคง และเป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลงานวิจัยในการพัฒนาประเทศต่อไป


วัตถุประสงค์

     1. เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียน manuscript โดยเป็นการกระตุ้นให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่กำลังดำเนินโครงการหรือทำงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้วเขียน  manuscript และส่งผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ

     2. เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย มุ่งเน้นให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความประสงค์จะสมัครขอรับทุนสามารถเขียนข้อเสนอโครงการได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้การดูแลจากเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้ทรงคุณวุฒิในการช่วยพัฒนาโจทย์วิจัย ตลอดจนปรับระเบียบวิธีวิจัยให้เหมาะสม เพิ่มโอกาสการทำงานวิจัยให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

     3. เพื่อให้ต้นสังกัดได้รับทราบถึงสถานะโครงการวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่รับทุนจากฝ่ายวิชาการ สกว. และร่วมมือกับ สกว. สกอ. ในการผลักดันให้โครงการสามารถสิ้นสุดได้

     4. เพื่อสร้างเครือข่ายงานวิจัยให้เกิดเป็นประชาคมวิจัยที่เข้มแข็ง

     5. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ซักถามถึงระเบียบข้อปฏิบัติและเกณฑ์ต่างๆ ของการรับทุน


ผู้บริหาร สกว.

     1. ศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ            ผู้อำนวยการ สกว.

  1. รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง       ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.

     3. รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์                ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน
 

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมโครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร

     1. ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์

  1. ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  2. ศ.ดร. นรัตถพล เจริญพันธุ์

     4. ผศ.ดร. รินา ภัทรมานนท์


วันที่ 18 เมษายน 2559   โดย
อ่าน 932 ครั้ง

       

สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
340 ถ.สุรนารายณ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
โทรศัพท์ 044-009009 ต่อ 9460
โทรสาร 044-272941
E-mail : wijaikorat@nrru.ac.th

Copyright (c) Research and development Institute. All rights reserved.